สัมมนาเครือข่ายอธิการบดี

สรุปสาระสำคัญการประชุมสัมมนาเครือข่ายที่ประชุมอธิการบดี “แนวทางการพัฒนาอุดมศึกษาไทยเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” วันพฤหัสบดีที่  14  มีนาคม  2556 เวลา 12.30-16.30 น. ณ  ห้องภาณุรังสีบอลล์รูม  โรงแรมรอยัลริเวอร์

 


 

 

 

ดร.บัญชา เกิดมณี  นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย

สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้จัดการประชุมเครือข่ายอธิการบดี ในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาอุดมศึกษาไทยเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากอธิการบดี 4 กลุ่มสถาบัน ได้แก่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยอธิการบดีและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 160 แห่งทั่วประเทศ โดยการประชุมเครือข่ายอธิการบดีนี้จะเป็นเวทีเดียวที่มีอธิการบดีจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ จากทุกกลุ่มสถาบันเข้าร่วมประชุม จึงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศของอธิการบดีจากทุกสถาบัน ได้มีโอกาสรับฟังแนวคิดนโยบายจากท่านประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศและทรัพยากรมนุษย์ และเป็นการนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

 

ปาฐกถาพิเศษ “กองทุนตั้งตัวได้เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน”  โดย

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประธานผู้แทนการค้าไทย และประธานกองทุนตั้งตัวได้

ประเทศไทยกำลังเก้าเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ภายใต้การก่อตั้งประชาคมอาเซียนที่ได้ยึดหลักสำคัญคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน ต่อมาเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน ซึ่งการศึกษานั้นจัดอยู่ในประชาคมสังคมและวัฒนธรรม โดยจะมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประชาคมด้านอื่นๆ มีความเข้มแข็ง เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ในส่วนของภาคการศึกษานั้น โดยเฉพาะในระดับของอุดมศึกษา ขณะนี้มีความชัดเจนในแนวนโยบายเกิดขึ้นแล้วจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ไว้ทั้งหมด 3 ยุทธศาสตร์ โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. การเพิ่มขีดความสมารถของบัณฑิตให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล

2. การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาประชมคมอาเซียน

3. การส่งเสริมบทบาทอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน

 

กองทุนตั้งตัวได้สู่ประชาคมอาเซียน

หลังจากที่สงครามเย็นเสร็จสิ้น ก็มีเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ประเทศที่เคยอยู่ระบบวางแผนส่วนกลางอย่างเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม กัมพูชา หรือว่าลาว รวมทั้งพม่า ได้ทยอยกันปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจมาเป็นแบบการใช้กลไกการตลาดมากขึ้น แล้วก็ใช้การวางแผนการผลิตการค้าแบบส่วนกลางน้อยลง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก พอมีการใช้กลไกการตลาดมากขึ้นก็หมายความว่าการค้าขายระหว่างหน่วยงานต่างๆ หน่วยภูมิศาสตร์ต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนเรามีกำแพงภาษีกั้นก็จะถูกลดกำแพงภาษีลง หรือว่ารื้อกำแพงภาษีทิ้ง เพราะฉะนั้นการไปมาหาสู่ การค้าขายสินค้าและบริการ รวมถึงการท่องเที่ยวและการเคลื่อนไหวของแรงงานก็จะมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ทุกที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ก็จะมีเหตุการณ์สองอย่างเกิดขึ้นเนื่องจากมีการรวมกลุ่มของเศรษฐกิจ คือ การค้าขายภายในสมาชิก 10 ประเทศจะมีมากขึ้น และการค้าขายกับประเทศนอกกลุ่มก็จะมีน้อยลง บวกกับอัตราการเติบโตของประเทศที่พัฒนาไปก่อนหน้าเราจะช้าลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้อัตราการค้าขายภายในประเทศของเราเพิ่มขึ้นในอัตราสูง เมื่อการค้าเปลี่ยนไปองค์กรธุรกิจซึ่งอาศัยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มากในช่วงที่เราต่างคนต่างค้าขายกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะกลายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง มากขึ้นเรื่อยๆ และการผลิตจะมุ่งขายภายในอาเซียนมาขึ้น

กองทุนตั้งตัวได้ มีวัตถุประสงค์หลักที่จะเปิดโอกาสให้คนที่จบการศึกษาทั้งในระดับอาชีวะและอุดมศึกษา ที่มีความคิดที่จะมีธุรกิจของตัวเองแต่ไม่มีเงินทุน คนเหล่านี้จะเป็นเป้าหมายของกองทุนตั้งตัวได้ที่จะให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ผ่านระบบสถาบันการศึกษา และจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านระบบธนาคาร ซึ่งเราจำเป็นจะต้องอาศัยสถาบันหลักสองสถาบัน คือ สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน แล้วเรายังต้องอาศัยสถาบันที่สามซึ่งเป็นกลุ่มบุคคล ก็คือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าของกิจการของตัวเองและพร้อมที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ เราต้องมีองค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้เพื่อที่จะช่วย ให้เขามีความสามารถในการกู้เงินธนาคารกองทุนตั้งตัวได้และจากแหล่งอื่นๆ

ในบ้านเรามีหน่วยบ่มเพาะรัฐวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมี 63 แห่ง กองทุนตั้งตัวได้มีความต้องการให้หน่วยบ่มเพาะรัฐวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้ว ในปัจจุบันได้รับการต่อยอดเพื่อที่จะเป็นหน่วยงานที่จะช่วยให้เราสามารถปล่อยเงินกู้ และช่วยดูแลการทำธุรกิจของน้องๆ รุ่นใหม่ได้ โดยที่เราเรียกองค์กรที่จะต่อยอดว่า ABI ซึ่งจะเป็นองค์กรที่จะช่วยสอนและสกรีนน้องๆ ที่สนใจจะเป็นนักธุรกิจ ซึ่งคนที่ผ่านการคัดแล้วจะขอกู้เงินได้จริง ซึ่งเป้าหมายของกองทุน ในหนึ่งปีเราต้องการให้มีคนผ่านการฝึกและขอกู้เงินธนาคารกองทุนตั้งตัวได้ห้าพันคนทั่วประเทศ ซึ่งกองทุนตั้งตัวได้จะให้กู้ไม่เดินรายละหนึ่งล้านบาท ดอกเบี้ยแค่ 1% ธนาคารของรัฐบาล สองล้านบาท แต่ล่ะโครงงานก็จะกู้เงินได้ไม่เกินสามล้านบาท โดยแบ่งเป็นของธนาคารของรัฐบาล และของกองทุนตั้งตัวได้ กู้ยาวได้ไม่เกิน 7 ปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และนี่คือข้อแตกต่างจากธนาคารทั่วไป

 

นายแพทย์ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนตั้งตัวได้

ตอนนี้เรามีมหาวิทยาลัยอยู่ ประมาณ 180 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน 63 แห่ง ในแต่ละมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตออกไปมีคนอยู่กี่กลุ่ม5 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ รับราชการ กลุ่มที่สองทำงานเอกชน กลุ่มที่สามอาชีพอิสระ กลุ่มที่สี่ผู้ประกอบการ กลุ่มที่ห้าคือภาคประชาสังคม NGO ซึ่งมหาวิทยาลัยโดยทั่วๆ ไป ตัวเลข 35-40% เป็นข้าราชการ และ 30-40% เป็นเอกชน ส่วนอีก 10-15% ผู้ประกอบการ ตัวอย่าง อย่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 80% ไปเอกชน มหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ 90% ไปเอกชน ส่วนในสิงคโปร์ NUS (national university of Singapore) มีตัวเลขของผู้ประกอบการเพียง 7% ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่พร้อมจะเป็นผู้ประกอบการ เพราะเขาเอาผู้ประกอบคนไทย มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม อิโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ไป เขาจะดึงคนเก่งๆ ไปเป็นคนของเขา แล้วเขาจะให้ทุนกับลูกหลาน

โดยภาพของการศึกษาไทยเราจะแข่งอาชีพ ฝึกคนให้ประกอบอาชีพ อุดมศึกษาก็คือการประกอบชีพ เราจะเน้นเทคโนโลยี เน้นกฎระเบียบ เน้นเรื่องการค้าพาณิชย์ ในหมวดสังคมก็คือ นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ ฯลฯ ส่วนเทคโนโลยีก็จะเป็น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ฯลฯ แต่เราลืมไปอีกเรื่องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและถ้าราทำได้ทุกประเทศจะเปิดต้อนรับเราทันที นั่นคือการสร้างผู้ประกอบการ ถ้าเราสามารถสร้างผู้ประกอบการและสามารถไปอยู่ได้ในทุกๆ นั่นก็อาจจะเป็นจุดขายของเรา

หน่วยบ่มเพาะรัฐวิสาหกิจ

ธนาคารที่มาช่วยในปัจจุบันเฉพาะธนาคารของรัฐบาล 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเกษตรและสหกรณ์  ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคาร SME  นอกจากนี้ บสย. ยังจับมือกับธนาคารเอกชนอีก 13 แห่ง รวมทั้งหมด 18 แห่งที่พร้อมจะเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการนี้  และธนาคารของรัฐบาล 5 แห่ง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อร่วมเป็นกรรมการ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์เพื่อช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

เจตนารมณ์ของโครงการนี้คือ เป็นการเข้ามาช่วยเหลือบ่มเพาะ เพราะว่าคนจำนวนมากออกมาแล้วไม่สามารถกู้ยืมได้ ไม่สามารถมีเงินทุนมาเริ่มดำเนินการต่อได้ นักศึกษาหรือคนที่ผ่านหน่วยบ่มเพาะจะมีความแข็งแรงพอที่จะมีสินค้าต้นแบบที่จะแข่งขันในท้องตลาดได้และต้องการเงินทุน แล้วเราจะเข้าไปช่วย เป็นการต่อยอดซึ่งกันและกัน และส่วนใหญ่ของการบ่มเพาะในมหาวิทยาลัยขาดสองประเด็น คือ 1. การตลาด 2. การเงิน เราก็เข้าไปช่วยตรงนี้

นักศึกษา 1 คนสามารถเลือกเดินได้ 2 ทาง คือ ทางที่ 1 กลับไปที่สถาบันการศึกษาตัวเอง หรือมองหาหน่วยบ่มเพาะรัฐวิสาหกิจในมหาวิทยาลัยใดก็ได้ หรืออาชีวะใดก็ได้ที่เคมีตรงกัน  หรือถ้าหากว่ามีสินค้าที่มั่นแล้วใจไม่ต้องการพี่เลี้ยงเดินเรื่องได้เลย ตอนนี้หน่วยบ่มเพาะ UBI มี 63 แห่ง หน่วยบ่มเพาะอาชีวะมีประมาณ 400 แห่ง ส่วนของกองทุนตั้งตัวได้ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยบ่มเพาะ แต่มีหน่วยบ่มเพาะนำร่องที่พร้อมจะเดินไปกับเรา ได้แก่   ราชภัฏอุตรดิตถ์ และพระจอมเกล้าธนบุรี และมีอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเตรียมการ ในปีนี้เราตั้งเป้าไว้ที่ 30 แห่ง ABI

 

ดร.บัญชา เกิดมณี  นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (กล่าวเสริม)

สิ่งที่สำคัญนั้นมีตัวอย่างระหว่างธุรกิจที่จะสร้างผู้นำด้านอิสระกับ SME ตอนนี้เราพบว่าในประเทศไทยยังเป็นระบบธุรกิจที่เป็นการผูกขาด เมื่อนักศึกษาหรือผู้เรียนไปถึงจุดหนึ่งตลาดก็จะตัน แล้วก็จะหยุดอยู่ตรงนี้ จากนั้นจะกลับมาสู่ฐานเดิม ฉะนั้นต้องเป็นนโยบายรัฐบาลที่ชัดเจนว่า เมื่อสร้างผู้ประกอบการแล้วจะทำอย่างไงที่จะต่อยอดให้เขาได้ เช่นบริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะนักศึกษาถ้าเขากู้มาแล้วในจำนวนเงิน 3 ล้าน พอถึงระดับหนึ่ง แล้วเขาไม่สามารถต่อไปได้ เงินทุนหมุนเวียนก็จะหมด แล้วในระบบสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างให้แก่ผู้ประกอบรุ่นใหม่ตรงนี้เราจะมีทางออกอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นหนี้

 

การเสวนาเรื่อง “บทบาทและความร่วมมือของอธิการบดี 4 กลุ่มสถาบัน เพื่อการแข่งขันในประชาคมอาเซียน” โดย

1. ดร.รักษ์ พรหมปาลิต               ประธานฝ่ายพัฒนาและนวัตกรรมอุดมศึกษา สสอท.

2. รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์         อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม

3. ผศ.ดร.จิตราภา  กุณฑลบุตร     เลขานุการที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ

4. ดร.สิน พันธุ์พินิจ                     อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

5. รศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์      อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอกาารค้าไทย

 

ดร.รักษ์ พรหมปาลิต ประธานฝ่ายพัฒนาและนวัตกรรมอุดมศึกษา สสอท.

รศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอกาารค้าไทย บทบาทและการร่วมมือของอธิการบดี 4 กลุ่มสถาบันการศึกษาเพื่อการแข่งขันในประชาคมอาเซียน ทีนี้มาฟังมุมมองของแต่ละท่าน ถือว่าเป็นเสาหลักของแต่ละกลุ่ม ตามข้อมูลนี้บอกว่า ในกลุ่มของ คปอ.มี อยู่ 27 สถาบัน ในกลุ่มราชภัฏ มีอยู่ 40 สถาบัน ในกลุ่มราชมงคลมีอยู่ 9 สถาบัน แต่มี 36 วิทยาเขต แต่กลุ่มของเอกชน มี 70 สถาบัน คำถามหลักเปิดประเด็นในวันนี้ว่าสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในกลุ่มของท่านมีการร่วมมือกันในด้านการสร้างความพร้อมเพื่อการแข่งขันในประชาคมอาเซียน (Asian Community) ในประเด็นใดบ้างและเกิดผลอย่างไร

 

รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์   อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม

ทปอ. ทำอะไรบ้างกับการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. 27 สถาบันได้ตกลงกันไปแล้ว ก็คือมีการตกลงว่าเราปรับเปลี่ยนเวลาเปิดภาคการศึกษาจากเดิมที่เราเปิดกันประมาณเดือนมิถุนายน ไปเป็นประมาณกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน แล้วแต่สถาบันแต่จะอยู่ในช่วงนี้ 27 สถาบันตกลงว่าเราจะปรับเปลี่ยนในปี 2557  ซึ่งปี 2556 สมาชิก 2 มหาวิทยาลัยเริ่มนำร่องนั่นคือ มหาวิทยาลัยนเรศวร กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หลายท่านอาจจะถามว่าเราจะเปลี่ยนทำไม 10 ประเทศในอาเซียน ตอนนี้เขาเปิดเทอมในช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายน 7 ประเทศ อีก 2 ประเทศอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนเวลาที่เราจะทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนอาเซียนก็จะลำบาก

การทำหนังสือเสนอสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบอกว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะมีวีซ่านักเรียน นักศึกษาโดยเฉพาะแต่เขาตอบมาแล้วว่า เขาปฏิเสธไม่รับพิจารณาที่จะทำ โดยได้คุยกับเจ้าหน้าที่ ตม. นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคนและได้อธิบายให้ท่านฟังว่า พบว่ามีสถาบันการศึกษาหลายแห่งออกหนังสือรับรองให้มาขอวีซ่าแต่เขาคิดว่าคนเหล่านั้นไม่ได้เรียนและมีหลักฐานด้วย

การจัดประชุมอธิการบดี ทำมาหลายปีคือการประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีของอินโดนีเซีย ได้มีการคุยกันมาประมาณ 5 ปีแล้ว ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ เป็นจัดที่ไทยปีหนึ่ง อินโดนีเซียปีหนึ่ง ปีที่ผ่านมาไทยเป็นเจ้าภาพที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีนี้จะไปที่อินโดนีเซีย ซึ่งได้มีการคุยกันว่า น่าจะเชิญที่ประชุมอธิการบดีของประเทศอื่น (ถ้ามี) เช่น มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น

ผศ.ดร.จิตราภา กุณฑลบุตร  เลขานุการที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ

เรามีความร่วมมือกันอย่างไร แล้วมีผลเป็นอย่างไร

เราได้ทำการวิจัยเรื่องของการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่อาเซียนว่า ราชภัฏทั้ง 40 แห่งนั้น ทำอะไรไปแล้วบ้าง สถาณการณ์เป็นอย่างไร มีข้อเสนอแนะอะไร มีมากมายที่น่าสนใจ อย่างเช่น เรารู้จักประเทศทางอเมริกา ยุโรป เยอะมากแต่ประเทศใกล้ๆ เรารู้จักน้อยมาก

ปัญหาเรื่องของภาษาอาเซียน ในขณะที่ชาวเวียดนามสามารถพูดภาษาไทยได้ ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนหนึ่งของเรา เรารู้จักประเทศในอาเซียนบนตัวหนังสือ แต่เราไม่รู้จักความจริงที่แท้ว่ามันเป็นอย่างไร เพราะงานวิจัยเขามีข้อเสนอแนะว่า เราควรจะรู้จักเขาในสภาพของความเป็นจริง เหมือนกับภาษิตโบราณที่ว่า 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น ฉะนั้นอธิการบดีราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ก็เลยมีมติว่าเราจะต้องไปทำความร่วมมือกับประเทศอาเซียนโดยการไปหาเขา ร่วมมือทั้งในทางวิชาการ แล้วก็การวิจัย  โดยแยกเป็นกลุ่มๆ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียกลุ่มหนึ่ง พม่ากลุ่มหนึ่ง แล้วก็เวียดนาม ลาว กัมพูชา กลุ่มหนึ่ง บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ก็กลุ่มหนึ่ง สิ่งที่เราพบจากการที่เราไปตรงนี้ก็คือปรากฏว่า ความรู้จากการสัมผัสจริงจากากรที่เราไปอาเซียนนั้น มีคุณค่ามหาศาลมากว่าที่เราได้อ่าน ได้สัมผัสบนโลกไซเบอร์

 

ดร.สิน พันธุ์พินิจ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

บทบาทสำคัญของมหาลัยเทคโนโลยีราชมงคลของเราทั้ง 9 แห่งนั้น เรามีการผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง มีการประชุมกันทุกเดือนเนื่องจากว่าเราต้องการผนึกกำลังเพื่อที่จะต่อสู้ในเรื่องของความเข้มแข็งของเรา เครือข่ายวิเทศสัมพันธ์ทุก มทร. แต่ละมหาวิทยาลัยมีการร่วมมือทำอะไรกันบ้าง อันที่สองก็คือการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ ซึ่งเราหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ปีที่แล้วก็มหาวิยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกเป็นเจ้าภาพ ปีนี้มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนครเป็นเจ้าภาพ เราจะจัดหมุนเวียนกันเช่นนี้ตลอดไป ฉะนั้นความเข้มแข็งตรงนี้ก็จะเปิดโอกาสให้ทั้งนักศึกษา ทั้งอาจารย์ และนักวิชาการมาร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาการในระดับนานาชาติ

เราได้ไปดูงานมาแล้วก็มีการลงนามกับไดเรกเตอร์ของ ไอโอที ของฝรั่งเศส ซึ่งลงนามไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ไอโอทีนี่ก็เป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นหนักในเรื่องของการฝึกทักษะให้นักศึกษา ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับบริบทของราชมงคลของเรา

การจัดการบูรณาการความรู้สู่ประชาคมอาเซียนซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์นั้น เป็นของราชมงคลทั้ง 9 แห่ง โดยจัดขึ้นที่ราชมงคลกรุงเทพ ที่เรารวมกันก็คือเรื่องของ Retreatเป็นเรื่องของการประชุมทบทวนว่าเทคโนโลยีราชมงคลที่เราตั้งมาตั้งแต่ 2548 จนถึงปีที่ผ่านมา 2555 เรามาทบทวนว่าเราได้ทำอะไรมาแล้วบ้างใน 7 ปี แล้วจะทำอะไรต่อไป ผมอยากจะโชว์ผลการ Retreat ที่ได้ทำเอาไว้ ก็คือพัฒนาบัณฑิต อย่างที่ผมได้เรียนไปแล้วว่า ราชมงคลเรามีความคิดที่จะสร้างบัณฑิตที่เป็นนักปฏิบัติ ฉะนั้นเราก็ทุ่มเทลงไปตรงนี้ให้มากที่เพื่อที่จะสร้างอัตลักษณ์ให้นักศึกษาเรา

รศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์   อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

อยากให้ทราบความสำคัญของอาเซียนกันอีกครั้ง อยากให้เห็นว่าสำคัญอย่างไร ด้านสังคม วัฒนธรรม หรือว่าเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพวกท่านคงรู้แล้วว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

จะมีการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ประเทศต้องทำหลายอย่างมาก ประเทศคงหวังว่าอุดมศึกษานี่แหละที่จะเป็นความหวังของเขาที่จะช่วยได้หลายเรื่อง เราพูดถึงอาเซียนใช่ไหมคะ เราต้องรู้ว่ามันไม่ใช่อาเซียนแค่ 10 ประเทศ อาเซียน +3 อาเซียน +6 แล้วก็ยังมีคนที่อยากจะเข้ามาร่วมมือกับเราอีก ความเชื่อมโยงของอาเซียน จะทำให้เราไปอยู่ในกรอบที่หากเป็นผู้เจรจาต่างๆ จะมีความสำคัญมากขึ้น

การเจรจา FTA  Free trade

ดัชนีการศึกษาเขาบอกมี 47 ตัว เราเป็นจุดอ่อนอยู่ 23 ตัว อันดับที่สูงที่สุด 42% อันดับที่แย่ที่สุดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งเราก็มีส่วนที่จะช่วยประเทศชาติได้ในเรื่องนี้  นี่คือตอกย้ำวิทยาศาสตร์ไทยที่แย่กว่าจีน เกาหลี ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ส่วนภาษาอังกฤษ Very low ไม่ต้องโทษใคร โทษพวกเราส่วนหนึ่งที่ช่วยเขาไม่ได้บ้างเลย แย่กว่าเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ล่าสุด มีนาคม 2556 เราทำงานเป็นอย่างไร เราตอบรับพร้อมกับ AEC แค่ไหน

ประเด็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจบอกว่าเขาไม่เข้าใจอะไรบ้าง มาตรฐานแรงงานของอาเซียน การเปิด +3 +6 คืออะไร การเปิดเสรีภาพทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่พวกเขายังไม่เข้าใจ

มหาวิทยาลัยเอกชนเองก็เปิดหลักสูตรหรือว่าพยายามที่จะปรับตัว อันนี้ตอบโจทย์ AEC สสอท. มีสมาชิกทั้งหมด 63 สถาบัน เราประชุมกันทุกเดือน เรามีคณะกรรมการหลายฝ่ายมาก ฝ่ายต่างก็ไปคิดกันมาว่าจะทำอะไรตอบสนองอาเซียนได้บ้าง ฝ่ายกิจการนักศึกษา ฝ่ายประกันคุณภาพ ทั้งหมดรวมผนึกกำลังกันแล้วทำบางอย่างร่วมกัน

ดร.รักษ์ : แต่ละระดับอุดมศึกษา เราควรกำหนดอะไรร่วมกันในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เนื่องจากว่าในอาเซียนมี 3 เสาหลัก

รศ.ดร.สุวิทย์ : ในสามเสาหลักนั้นอันแรกคือ APSC จริงๆ เป็นเรื่องสำคัญที่อาเซียนทั้งหลายเนี่ย จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ ไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน

APSC เรื่องสังคมและวัฒนธรรม จากการที่มีประเทศในอาเซียนเกือบทั้งหมด รวมถึงจากการที่ทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงซึ่งส่วนใหญ่จะคิดว่าเราเข้าใจเขาดีที่สุด แต่จริงๆ แล้ว เราอาจจะไม่เข้าใจเขามากที่สุดคือ ประเทศลาว ยกตัวอย่างเช่น เราชอบพูดว่า ไทยลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แล้วเขาก็ถามผมว่าแล้วใครเป็นพี่  เขาไม่อยากได้ยิน เวลาจะพูดถึงลาวให้พูดว่า เพื่อนใกล้ชิดมิตรใกล้บ้านมากกว่า บ้านพี่เมืองน้อง ทางเขมรพม่า ก็เช่นเดียวกัน เราต้องไม่ดูหมิ่นเขาถ้าจะอยากเข้าสู่สมาคมอาเซียน

ผศ.ดร.จิตราภา : การที่เราจะร่วมงานกันได้ เราจะต้องเข้าใจซึ่งกันและกันในอาเซียน เพื่อที่จะไปแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ การสร้างคนเข้าสู่อาเซียนสำคัญที่สุด นั่นคือกระบวนการทางการศึกษา เราต้องเตรียมเด็กให้เก่ง พร้อม และดีพอที่จะเข้าสู่อาเซียน จะต้องร่วมมือกันเข้มข้นมากขึ้น

อะไรในระบบการศึกษาของเราที่เข้มแข็ง ของเรามีมหาวิทยาลัยเยอะมาก เราต้องมาคุยกันว่าแต่ละแห่งมีอะไรเด่นด้านไหน เอามาช่วยกัน เพื่อที่จะก้าวสู่อาเซียน

ด้านสันติภาพ ยูเนสโก เคยทำหลักสูตรร่วมกันในอาเซียน ก็คงจะฝากที่ประชุมในที่นี้ให้ติดตามและรื้อฟื้น จะได้เห็นชัดยิ่งขึ้น

ดร.สิน : ความรู้เบื้องต้นที่จะเข้าสู่อาเซียนจะต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติควบคู่กันไป ลองคุยกับเพื่อนต่างชาติ หรือพาร์ทเนอร์เราอาจเป็นได้หลายประเทศ ตลอดจนการใช้สื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ

มีการเตรียมพร้อมด้านกายภาพ บรรยากาศภายในมหาลัยเพื่อให้รองรับด้วย เพราะว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

 

ผศ.เสาวนีย์ : เราต้องช่วยกันทำงาน เราต้องคุยกันมากขึ้นว่าแต่ละคนมีจุดเด่นอะไรบ้าง เรามาสามัคคีกันเพื่อสู้กับศึกนอกดีกว่า

 

ดร.ชวลิต  หมื่นนุช  เลขาธิการ สสอท. : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาเซียนต้องการอะไร เราอาจจะต้องมีการร่วมมือกันให้มากกว่านี้ เราอยากเห็นความร่วมมือกันที่มีบริบทในเรื่องเนื้อหามากกว่า เราต้องผนึกว่าใครมีความเชี่ยวชาญตรงไหน ให้มาทำตรงนั้น อีกเรื่องที่ผมต่อสู้มาก็คือเรื่องวีซ่า แต่ถ้าเราช่วยกันบอกว่าช่วงนี้เราจะเปิดประเทศนะ อาจจะไม่ต้องก็ได้เข้าประเทศได้เลย

ผศ.ดร.จันทร์จิรา  วงษ์ขมทอง : สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือ การปฏิรูปการศึกษา และการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นร่วมที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยทั้งหมด เรามองในเชิงสร้างสรรค์ว่า เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้มหาวิทยาลัยของไทยก้าวสู่อาเซียนได้ดีที่สุด อีกประการคือการให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา เราต้องมีกระทรวงเฉพาะที่จะต้องเข้ามาดูแล