ข่าวสารกรอ-กยศ

รายงานความคืบหน้า กรอ. และ กยศ.

จากการประชุมคณะกรรมการ กรอ. และ กนศ. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558

โครงการเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ)

1. กำหนดหน้าที่ วิธีปฏิบัติและความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่ร่วม กรอ. ปีการศึกษา 2558ดังนี้

1) หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนในระดับอนุปริญญา/ปริญญาตรีต้องได้รับการรับทราบ หรือสอบทาน จากต้นสังกัดแล้วแต่กรณี

2) ผ่านการประเมินคุณภาพ โดยมีผลการประเมินคุณภาพภายนอกที่เป็นปัจจุบันจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือหน่วยงานอื่นที่เทียบเท่า ที่แสดงว่าผลการจัดการศึกษาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

3) สำหรับสถานศึกษาใดที่ยังไม่มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือหน่วยงานอื่นที่เทียบเท่า ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายในจากต้นสังกัด

4) สถานศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการก่อนปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งไม่ผ่านการประเมินคุณภาพตาม2)สามารถดำเนินการให้ทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืนได้เฉพาะนิสิตหรือนักศึกษาผู้ขอรับทุนรายเก่าเลื่อนชั้นปีเท่านั้น

5) สถานศึกษาที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘ ต้องสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพตามที่กำหนดและต้องเปิดการเรียนการสอนมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา ให้ยื่นความจำนงเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต ภายในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘

6) สำหรับสถานศึกษาที่ได้เปิดบัญชี “กรอ.ปีการศึกษา ๒๕๕๕ (ระบุชื่อสถานศึกษา)” หรือบัญชี “กรอ.ปีการศึกษา ๒๕๕๖ (ระบุชื่อสถานศึกษา)” หรือบัญชี “กรอ.ปีการศึกษา ๒๕๕๗ (ระบุชื่อสถานศึกษา)” ไว้แล้ว ให้คงใช้บัญชีดังกล่าวต่อไปได้ โดยไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่

7) ให้นิสิตหรือนักศึกษาผู้รับทุนเข้าร่วมกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ โดยจัดให้มีหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบพิจารณาการให้ทุนการศึกษา

8) ก่อนวันสิ้นเดือนของวันสิ้นภาคการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และ/หรือเจ้าหน้าที่ของสถานศึกษาที่รับผิดชอบการดำเนินงานกองทุน มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับยอดเงินค่าเล่าเรียนที่สถานศึกษาได้รับจริงจากผู้รับทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืนแต่ละราย ซึ่งเป็นข้อมูลหลังเสร็จสิ้นการเพิ่ม-ถอนรายวิชาแล้ว ผ่านระบบ e-Audit ของกองทุนเพื่อการศึกษาเพื่อตรวจสอบ หากไม่สามารถปฏิบัติได้โดยไม่มีเหตุอันสมควร กองทุนเพื่อการศึกษาอาจพิจารณาระงับการโอนเงินให้แก่สถานศึกษาสำหรับภาคการศึกษาถัดไปก็ได้

2. การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับทุน หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการขอรับทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืน สำหรับนิสิตหรือนักศึกษาที่กู้เงิน กรอ. ปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘

1) มาตรการผ่อนผันให้ผู้กู้รายเก่าที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 2.00 สามารถกู้ยืม กรอ. ได้เฉพาะปีการศึกษา 2558 เท่านั้นหมายความถึงผู้กู้ ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ หรือปีการศึกษา ๒๕๕๖ หรือปีการศึกษา ๒๕๕๗ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2) สำหรับผู้รับทุน กรอ. รายเก่าเลื่อนชั้นปี ระดับ ปวท./ปวส. และระดับอนุปริญญา/ปริญญาตรี ต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะจนเสร็จสิ้นโครงการ/กิจกรรม ไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมงในแต่ละภาคการศึกษา โดยมีหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรมที่สถานศึกษา หรือหน่วยงานราชการ หรือองค์กรการกุศลออกให้

3) เป็นนิสิตหรือนักศึกษารายใหม่ชั้นปีที่ ๑ ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ที่มีอายุไม่เกิน ๓๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙

4) สำหรับนิสิตหรือนักศึกษาที่เข้าศึกษาในชั้นปีที่ ๑ ระดับอนุปริญญา/ปริญญาตรีในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘ ต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ไม่น้อยกว่า ๒.๐๐ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ โดยมีหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรมที่สถานศึกษา หรือหน่วยงานราชการ หรือองค์กรการกุศล ออกให้

5) ยินยอมให้กองทุนเพื่อการศึกษาใช้และเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของผู้รับทุน ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน หนังสือให้ความยินยอม กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ)

1. มาตรการผ่อนผันสำหรับผู้กู้ยืมรายเก่า กยศ. เฉพาะปีการศึกษา 2558

1) ผ่อนผันเฉพาะปีการศึกษา 2558 ให้กับผู้กู้ยืมรายเก่าเลื่อนชั้นปีที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ต่ำกว่า 2.00 สามารถกู้ยืมต่อเนื่องได้ในปีการศึกษา 2558

2) เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิ์ผู้กู้ กยศ. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะประกาศใช้ต้องไม่มีผลย้อนหลังที่กระทบกับกับผู้กู้เก่า ดังนั้น จึงควรประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกู้ยืม กยศ. ล่วงหน้า โดยให้มีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2559

3) สำหรับการใช้เกณฑ์คะแนนเฉลี่ยสะสม 2.00 ในการศึกษา 2559 นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า น่าจะเปิดโอกาสให้ผู้กู้ใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมรายภาค หรือรายปี ที่มีระดับ 2.00 ก็ได้ อย่างไรก็ตาม สถาบันควรหามาตรการจูงใจให้นักศึกษาตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้ผลการเรียนดี เพื่อมีสิทธิ์กู้ยืมในปีต่อไปได้

4) สำหรับการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะให้เข้าร่วมกิจกรรม/โครงการจนเสร็จสิ้นไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา หรือ 36 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา ทั้งนี้กิจกรรม/โครงการดังกล่าวต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนและไม่ได้รับค่าตอบแทนสถาบันการศึกษาจึงควรมีรูปแบบและวิธีการทำกิจกรรม/โครงการ พร้อมทั้งหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรม/โครงการด้วย

2. ผลการดำเนินการสืบทรัพย์และบังคับคดีกับผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีปี 2547

1) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง ปี 2556 เป็นจำนวน 627,330 ราย

2) เฉพาะปี 2547 กองทุนได้ส่งผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้เพื่อดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลรวมทั้งสิ้น 4,437 ราย มีการถอนฟ้อง ชำระหนี้ปิดบัญชี ตาย ทุพลภาพ คงเหลือคดีที่ศาลมีคำพิพากษาจำนวนทั้งสิ้น 4,175 ราย

3) กองทุนฯ ได้ดำเนินการจัดจ้างสำนักงานทนายความดำเนินการสืบทรัพย์บังคับคดีผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดี ปี 2547 จำนวน 9 แห่ง เพื่อดำเนินการสืบทรัพย์และบังคับคดีกับผู้กู้ยืมจำนวน 4,175 ราย ทุนทรัพย์จำนวน 109,387,127.87 บาท โดยสำนักงานทนายความผู้รับจ้าง ได้รายงานผลการดำเนินการโดยสรุป ดังนี้

– ลูกหนี้เสียชีวิต                 จำนวน 39 ราย      ทุนทรัพย์ 971,286.67 บาท
– ชำระหนี้ปิดบัญชี              จำนวน 842 ราย    ทุนทรัพย์ 18,841,408.95 บาท
– ไม่พบทรัพย์สิน                จำนวน 2,048 ราย ทุนทรัพย์ 54,038,407.87 บาท
– พบทรัพย์สิน                    จำนวน 766 ราย    ทุนทรัพย์ 21,484,827.65 บาท
– รอรายงานผลเป็นทางการ จำนวน 480 ราย    ทุนทรัพย์ 14,051,197.53 บาท

4) กรณีพบทรัพย์สิน จำนวน 766 ราย สำนักงานทนายความรายงานราคาประเมินหลักทรัพย์ที่ยึดไว้ จำนวน 164 ราย คิดเป็นเงิน 104,951,831 บาท ส่วนที่เหลือสำนักงานทนายความ จะรายงานเพิ่มเติมต่อไป

3. ความคืบหน้าของร่าง พรบ. กองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ…..
           กระทรวงการคลังได้ส่งร่าง พรบ. ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว โดยแนบข้อคิดเห็นของคณะกรรมการเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกฤษฎีกา ใน 2 ประเด็น คือ การมอบอำนาจให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้อนุมัติการกู้ยืม และการโอนเงินค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาให้แก่สถาบันการศึกษา แทนที่จะโอนเงินให้นักศึกษาผู้กู้โดยตรง

รายงานโดย ผศ. ดร. ประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษดิ์ (โทร 081-8823377)

ผู้แทนนายก สสอท. ในคณะกรรมการ กรอ. และ กยศ.